การดูแลกองปุ๋ยหมัก
“ปุ๋ยหมัก”
ที่เราทำไว้ ใช้ได้หรือยัง
ความรู้พื้นฐานในการทำ
“เกษตร” ในความคิดของผม อันดับแรกเลย ต้องทำปุ๋ยหมักให้เป็น
ซึ่งก็เป็นเพียงวิธีง่ายๆ เพียงแค่เรานำเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น เศษใบไม้
ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด หรือเปลือกถั่ว มากองเป็นชั้นๆรวมกัน โดยแต่ละชั้นให้ผสมมูลสัตว์เข้าไปด้วย
และในแต่ละชั้นก่อนจะเริ่มทำชั้นใหม่ให้รดด้วยน้ำหมักชีวภาพที่ผสมน้ำ
หรือกากน้ำตาลผสมกับน้ำให้ได้ความชื้นประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นนำมากองไว้ในที่ร่ม
คลุมด้วยแสลนหรือเศษฟางข้าว เพื่อเก็บความชื้นไว้สักระยะหนึ่ง
เป็นการเอื้อต่อการทำงานของจุลินทรีย์ต่างๆที่ทำการย่อยสลาย ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1
เดือน ส่วนรายละเอียดการดูแลก็เพียงหมั่นตรวจดูกองปุ๋ยหมัก หากเห็นว่าเริ่มแห้งให้รดน้ำ
และกลับกองปุ๋ยทุกๆ 7-10 วัน เพื่อระบายอากาศ
อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่จุลินทรีย์ที่ทำการย่อยสลายกองปุ๋ยหมักให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
และยังเป็นการระบายความร้อนออกจากกองปุ๋ยหมักได้อีกด้วย
ส่วนการพิจารณาปุ๋ยหมักที่พร้อมสมบูรณ์แล้ว จะพิจารณาจากสีเป็นอันดับแรก
คือสีของปุ๋ยหมักต้องมีสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ และวัสดุที่นำมาทำต้องเปื่อยยุ่ย มีลักษณะคล้ายกองดินที่อยู่ตามธรรมชาติทั่วไป
และจะต้องไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า คือต้องมีกลิ่นคล้ายกลิ่นดินในธรรมชาติ และที่สำคัญ
ถ้าอยากจะรู้ว่าปุ๋ยหมักที่เราทำไว้พร้อมใช้หรือยัง ให้เราพิจารณาจากต้นหญ้าเล็กๆที่ขึ้นอยู่บนกองปุ๋ยหมัก
เพราะหากวัชพืชสามารถเจริญเติบโตบนกองปุ๋ยหมักได้ นั่นก็แสดงว่า “ปุ๋ยหมัก” ที่เราทำไว้สามารถนำไปใช้ได้แล้วครับ แต่ก่อนนำไปใช้แนะนำให้เกลี่ยกองปุ๋ยหมักให้กระจายออกทิ้งไว้ก่อน
เพื่อเป็นการระบายความร้อนจากกองปุ๋ย
เป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับพืชที่เราปลูกด้วยครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น