รวมวิธีการปลูกข้าว

เทคนิคเกษตร วิธีการปลูกข้าวที่ถูกต้อง
เทคนิคเกษตร
การปลูกข้าว หรือการทำนาโดยทั่วไปมี 3 วิธีคือ  นาดำ นาหว่าน  และนาหยอด อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ และสภาพปัจจัยอื่นๆด้วยครับ  เช่นที่สูง ที่ลุ่ม  ที่น้ำลึก  สภาพน้ำขัง ตลอดถึงเงินทุนในการจ้างแรงงานต่างๆ เป็นต้น 
การปลูกข้าว
1. การทำนาดำ 
การทำนาดำเป็นวิธีการปลูกข้าวโดยแบ่งการปลูกเป็น สองขั้นตอน คือ ขั้นตอนการตกกล้าและขั้นตอนการปักดำ  แต่ปัจจุบันเกษตรกรนิยมปักดำน้อยลง เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน แต่อย่างไรก็ดี การปักดำ ก็ถือได้ว่าเป็นวิธีการปลูกข้าวที่สามารถควบคุมวัชพืชได้ดีกว่านาหว่าน
รายละเอียดการทำนาดำ
1.เลือกแปลงนาสำหรับหว่านกล้า
ในการการเตรียมแปลงกล้า เกษตรกรควรเตรียมให้ถูกวิธี  คือให้เกษตรกรระบายน้ำเข้านาให้เปียก แต่ไม่ต้องท่วมทิ้งไว้ 7-10 วัน เพื่อล่อให้วัชพืชขึ้นแล้วทำการไถดะ ทิ้งไว้อีก 5-10 วันให้วัชพืชเน่า จึงไถแปร แล้วทิ้งไว้ประมาณ 14 วัน เพื่อให้สารพิษที่เกิดจากการหมักวัชพืชหมดไป เสร็จแล้วจึงทำเทือก และปรับระดับแปลงนาให้ราบเรียบเสมอกัน เมื่อได้แปลงที่เหมาะสมพร้อมแล้ว ให้เกษตรกรทำการคัดเมล็ดพันธุ์ดี   เมล็ดพันธุ์ที่ดีต้องบริสุทธิ์ตรงตามพันธุ์  ปราศจากสิ่งเจือปนและเมล็ดวัชพืช   รวมทั้งไม่มีการทำลายของโรค แมลง และมีเปอร์เซ็นต์ความงอกมากกว่าร้อยละ 80 (หากใช้พันธุ์ข้าวของทางราชการจะมีคุณสมบัติข้างต้น) แต่ถ้าหากเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้เอง ควรมีการทดสอบความงอก โดยเพาะเมล็ดลงในจานที่มีวัสดุอมความชื้นรอประมาณ 3-5 วัน โดยนับจำนวนเมล็ดงอกเทียบกับเมล็ดที่เพาะทั้งหมด หลังจากนั้นควรมีการคัดเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ มีความงอกสูง โดยการนำเมล็ดข้าวไปแช่น้ำเกลือทดสอบ โดยใช้น้ำ 10 ลิตร ผสมเกลือแกง 1.7 กก. คนน้ำให้เกลือละลายจนหมดแล้วแช่เม็ดข้าวลงไป คัดเฉพาะเมล็ดที่จมน้ำ นำไปล้างน้ำสะอาดให้หมดความเค็ม (ล้าง 3-4 น้ำ) แล้วนำไปเพาะให้งอกต่อไป
2.การหุ้มและแช่เมล็ดข้าว
นำเมล็ดพันธุ์ข้าวบรรจุกระสอบ แล้วนำไปแช่น้ำสะอาด 12-24 ชั่วโมง  จากนั้นนำขึ้นจากน้ำวางบนกระสอบหรือแผ่นกระดาน แล้วคลุมทับด้วยกระสอบชุบน้ำ วางไว้ในที่ร่มอากาศถ่ายเทได้ดี ทิ้งไว้ 30-48 ชั่วโมง  รดน้ำให้ชุ่มชื้นเช้าและเย็น เมล็ดข้าวจะงอกตุ่มตา (รากยาว 1-2 มิลลิเมตร) พร้อมที่จะหว่านได้ หลังจากนั้นให้เกษตรกรหว่านเมล็ดข้าวที่งอกตุ่มตาลงบนเทือกที่อ่อนนุ่มไม่มีหลุมบ่อ  และน้ำไม่ท่วมแปลง  ให้เมล็ดข้าวกระจายสม่ำเสมอทั่วแปลง  แนะนำให้เกษตรกรหว่านเมล็ดข้าวตอนบ่ายหรือเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนจากแสงแดด ซึ่งอาจทำให้เมล็ดข้าวที่หว่านตายได้  อัตราการหว่านไร่ละ  8 ถึง 9 ถัง  เพราะกล้าข้าว 1 ไร่ เกษตรกรสามารถนำไปปักดำได้ 15 ถึง 20 ไร่
3. การใส่ปุ๋ยแปลงกล้าอย่างเหมาะสม 
ถ้าต้นกล้างามดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย  เพราะถ้าต้นกล้างามเกินไปใบจะยาว  ลำต้นจะอ่อน  ถอนแล้วขาดง่าย เมื่อนำไปปักดำจะตั้งตัวช้า  อีกทั้งเป็นโรคหรือแมลงทำลายได้ง่าย แต่ถ้าหากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 อัตรา 25-40 กก. /ไร่ หรือ 15-25 กรัม ต่อ 1 ตารางเมตร หลังหว่านข้าวไปแล้ว 7 วัน โดยต้องมีน้ำขังในแปลงด้วย
4. การถอนต้นกล้าอย่างถูกวิธี 
เกษตรกรจะถอนต้นกล้าได้ เมื่อต้นกล้ามี 5-7 ใบ ถ้าเป็นข้าวชนิดไม่ไวแสง ต้นกล้าควรมีอายุ 20-25 วัน แต่ถ้าเป็นข้าวชนิดไวแสง ควรใช้กล้าอายุ 25-30 วัน และควรถอนต้นกล้าด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ต้นกล้าช้ำ การตัดใบข้าว เกษตรกรควรทำเมื่อจำเป็นจริงๆ เช่น กล้าอายุมาก ใบยาวมาก ต้นสูง หรือเมื่อมีลมแรง ลักษณะต้นกล้าที่ดี ควรมีกาบใบสั้น มีรากมากและขนาดใหญ่ ไม่มีโรคหรือแมลงทำลาย ซึ่งเป็นผลมาจากการหว่านเมล็ดพันธุ์สม่ำเสมอ และไม่แน่นเกินไป ได้รับแสงอย่างพอเพียง รักษาระดับน้ำได้ถูกต้อง ตลอดจนการใส่ปุ๋ยไม่มากเกินไป
5. เตรียมดินแปลงปักดำอย่างถูกวิธี
การเตรียมดิน ไม่ว่าจะเป็นการไถดะ หรือไถแปร  ควรทำอย่างละเอียด  เพื่อให้ง่ายต่อการปักดำข้าว  ในบางพื้นที่สภาพดินอาจจับตัวแน่นเร็วทำให้ปักดำยาก การปักดำต้นกล้า  ให้เกษตรกรปักดำจับละ  3-5 ต้น (3-5 ต้นต่อกอ) ลึก 2-3 เซนติเมตร ถ้าเป็นไปได้ควรปักดำให้เป็นแถวจะง่ายต่อการกำจัดศัตรูข้าว การใส่ปุ๋ยและต้นข้าวยังได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง
6. จัดการน้ำในระยะปักดำอย่างถูกต้อง 
ควรมีระดับน้ำเพียงแค่คลุมผิวดินเท่านั้น เพื่อป้องกันวัชพืชขึ้น และช่วยพยุงต้นข้าวไม่ให้ล้ม ถ้าระดับน้ำมีมากเกินไปจะทำให้ต้นข้าวแตกกอน้อย  ต้นข้าวรีดตัวสูงและผอมไม่แตกกอ  ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ แต่ถ้าน้ำไม่เพียงพอต้นข้าวจะแคระแกร็น ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องมีการจัดการน้ำให้เหมาะสม  โดยในระยะปักดำใหม่ๆ ควรมีระดับน้ำ 5-10 ซม. แต่ถ้าเป็นข้าวชนิดไวแสงต้นสูง  อาจเพิ่มระดับน้ำได้ถึง 20-30 ซม. ก็ได้  รักษาระดับน้ำจนกระทั่งก่อนช่วงที่ต้องใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 (หรือปุ๋ยแต่งหน้า) ช่วงนี้หากเกษตรกรสามารถ ลดระดับน้ำให้รากข้าวสัมผัสอากาศก่อนหว่านปุ๋ย จะทำให้ต้นข้าวสามารถใช้ธาตุอาหารได้ดีหลังจากนั้นให้ควบคุมระดับน้ำไว้เท่าๆกับระยะแรก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงข้าวตั้งท้องจะขาดน้ำไม่ได้เป็นอันขาด ผลผลิตจะตกต่ำ ก่อนเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 15 วัน  ให้ระบายน้ำออกจากแปลงนาให้หมด เพื่อทำให้ดินแห้งสะดวกในการเก็บเกี่ยว  และช่วยให้ข้าวสุกพร้อมกัน รวมทั้งช่วยลดอัตราการร่วงของเมล็ดข้าวขณะเก็บเกี่ยวได้   
2. การทำนาหว่าน 
การทำนาหวานเป็นที่นิยมโดยมาก เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งสภาพน้ำจำกัด ยากแก่การปักดำข้าว  หรือพื้นที่อยู่ในเขตน้ำฝนไม่เพียงพอ การทำนาหว่านเป็นการปลูกข้าวโดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหว่านลงไปในนาที่เตรียมดินไว้ดีแล้ว มี 2 วิธี คือ
- หว่านข้าวแห้ง
- หว่านข้าวตม
การหว่านข้าวแห้ง  
การหว่านข้าวแห้งมักใช้ในเขตนาน้ำฝน หรือในพื้นที่ที่ควบคุมน้ำไม่ได้  โดยเมล็ดพันธุ์ที่หว่าน เกษตรกรจะไม่เพาะให้งอกก่อน เรียกอีกอย่างคือ หว่านสำรวย เป็นการหว่านคอยฝนในสภาพดินแห้ง โดยหว่านหลังจากไถแปร  เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดข้าวที่หว่านไว้จะได้งอก  บางกรณีมีการคราดกลบเมล็ดหลังการหว่านเพื่อป้องกันการทำลายของศัตรูข้าว ซึ่งอาจเรียกว่าหว่านคราดกลบ อีกกรณีหนึ่งเป็นการหว่านในสภาพดินเปียก คือ มีฝนตกเมื่อไถแปรแล้วหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวตามทันที จากนั้นทำการคราดกลบ  วิธีนี้เรียกว่าหว่านหลังขี้ไถ การหว่านข้าวแห้งจะใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ประมาณ 10 – 15 กก./ไร่
การหว่านข้าวตม 
การหว่านข้าวตม หรือหว่านเพาะเลย เป็นการหว่านโดยการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีการเพาะให้งอกแล้ว กล่าวคือ นำเมล็ดข้าวแช่น้ำสะอาด  12 – 24 ชั่วโมง แล้วนำไปหุ้ม(ใส่กระสอบวางไว้ที่ร่ม รดน้ำให้ชุ่มชื้น) 30 – 48 ชม.  จนมีรากงอกยาวประมาณ 1 – 2 มิลลิเมตร  ที่เราเรียกว่า  ตุ่มตา  แล้วหว่านลงในพื้นที่นาที่เตรียมไว้ วิธีนี้บางกรณีในเขตนาน้ำฝนควบคุมน้ำได้ยาก  จำเป็นต้องหว่านในเทือกที่มีน้ำขัง  แต่ในเขตชลประทาน ควรระบายน้ำให้เทือกนุ่มพอดี  สังเกตจากเมล็ดข้าวที่หว่านจะจมในเทือกประมาณครึ่งหนึ่งของเมล็ดแนวนอนเมื่อข้าวงอกแล้วค่อยๆระบายน้ำเข้านา  แต่ไม่ให้ท่วมยอดต้นข้าว การหว่านนาน้ำตม ถ้าเตรียมดินดี ไม่มีวัชพืช จะใช้เมล็ดพันธุ์ไร่ละ 10-15 กก. แต่ถ้าเตรียมดินไม่ดี มีวัชพืชมากในอัตราเมล็ดพันธุ์ไร่ละ  15 – 20 กก.
3. การทำนาหยอด 
การทำนาหยอดจะใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่ประมาณ 8-10 กก.นิยมทำในสภาพพื้นที่ไร่ ที่สูง หรือในสภาพนาที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ใช้เมล็ดข้าวแห้งที่ไม่ได้เพาะให้งอก  หยอดลงไปในหลุมที่เตรียมไว้โดยใช้จอบเสียม  หรือใช้ไม้กระทุ้ง  ตลอดจนใช้เครื่องหยอด หรือจะใช้วิธีโรยเป็นแถว ในร่องที่ทำเตรียมไว้ แล้วกลบดินฝังเมล็ดข้าว เมื่อฝนตกลงมาเมล็ดข้าวที่หยอดจะงอก ส่วนในสภาพไร่หรือที่สูง  อาจทำเป็นหลุมลึก 4-5 เซนติเมตร  หยอดเมล็ดข้าวหลุมละ 5-6 เมล็ด  ส่วนในที่ราบสูงเช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถทำร่องห่างกัน 25-30 เซนติเมตร 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปูนขาว/ปูนมาร์ล ทำหน้าที่อะไร?

เลือกฤดูกาลปลูกฟักทองให้ขายได้ราคาแพง

9 อุปกรณ์สำหรับวางระบบน้ำด้วยท่อ Pe ที่คนทำเกษตรควรรู้ไว้