สิ่งที่ควรรู้สำหรับคนทำ “เกษตร”


สิ่งสำคัญที่ควรรู้..ก่อนทำเกษตร

คนทำเกษตร

นี่ก็ย่างเข้าหน้าฝนแล้ว จากเมื่อ2ปีก่อนแถวบ้านที่ผมอยู่นิยมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันมากเพราะสมัยนั้นราคาดี บางคนมีพื้นที่ปลูกมากถึง 20-30 ไร่ ก็รับเงินกันทีเป็นแสนๆ แต่มาปีนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กลับถูกลงชนิดที่ว่าลดลงอย่างฮวบฮาบ เป็นเพราะเศรษฐกิจในประเทศหรือว่าการเมืองที่วุ่นวายก็ไม่รู้ แต่ที่ผมรู้คร่าวๆก็คือเมื่อประมาณกลางปี 2013 มีข่าวว่าบริษัทในกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของไทยและของโลก ได้ประสบกับภาวะการผลิตที่ไม่สมดลกับกำไร หรือไม่ก็มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศเข้ามา เพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ในไทยจำนวนมากจึงทำให้ราคาลดต่ำลงจนเกิดการประท้วงในหลายพื้นที่ จากความชื้น 30 เปอร์เซ็นต์เคยขายได้ตันละกว่า 7500 บาท ลดลงเหลือ 4000-4500 บาท แล้วเกษตรกรอย่างเราๆ ที่ไม่มีอำนาจถ่วงดุลอะไรทำนองนั้น ? จะเหลืออะไร..? คนแถวบ้านผมก็เลยหันมาปลูกมันสำปะหลังกันมาก ปลูกกันคนละ5 ไร่ 10 ไร่หรือ 20 ไร่ขึ้นไปก็มี เพราะปีนี้ราคาค่อนข้างดี คือช่วงเดือนกุมพาพันธ์ที่ผ่านมาราคามันสำปะหลังอยู่ที่ตันละ 2,500 บาท ก็เลยเกิดกระแสนิยมปลูกตามๆกันไป โดยหารู้ไม่ว่ามันสำปะหลังเป็นพืชที่ดูดซับสารอาหารจากดินมากเป็นที่สุดอีกชนิดหนึ่ง หากปลูกไปนานๆโดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ผลผลิตก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ ชนิดที่ว่าหายไปทีเป็นตันๆ หากไม่เชื่อให้ลองสังเกตดูผลผลิตแต่ละรุ่นในพื้นที่ปลูกผืนเดิม สมมุติว่าปีแรกที่ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่2 ไร่ จะได้ประมาณ 7 - 8 ตันหรือมากกว่า แต่พอย่างเข้าปีที่สองจะเหลือเพียง 5-6 ตัน และเมื่อย่างเข้าปีที่สาม (หากไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน) ก็จะเหลือเพียง 3 - 4 ตันลดลงไปเรื่อยๆ เพราะดินเสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆนั่นเอง แถวบ้านผมในสมัยก่อน (ภาคอีสาน) เรียกว่า “เป็นดินจืด” คือดินขาดธาตุอาหาร หากอยากให้ได้ผลผลิตเพิ่มก็ต้องอัดปุ๋ยเคมีเข้าไป และเมื่อใส่ปุ๋ยเคมีเข้าไปมากๆโดยไม่มีการใส่อินทรียวัตถุลงไปปรับสภาพ ดินผืนนั้นก็จะกลายเป็นดินกรดที่มีแต่พวกออกไซด์ อลูมิเนียม แมงกานีสและสังกะสี ซึ่งธาตุต่างๆเหล่านี้ล้วนไม่มีประโยชน์สำหรับพืชมีแต่จะส่งผลเสีย ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จในการทำเกษตรก็ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดีครับ ไม่ต้องฟังคำแนะนำของใครหรอกฟังแค่คนเดียวก็พอคือ “พอหลวง”ของชาวไทยเรานั่นเอง เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้วผมเคยฟังรายการวิทยุที่มีข่าวเกี่ยวกับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ มีใจความตอนหนึ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงแนะนำเอาไว้ว่า “การปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียนสลับกับพืชที่ปลูกตามฤดูกาล จะช่วยปรับสภาพดินให้ดีขึ้นได้” ด้วยความเป็นเด็กก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอได้ศึกษาหาความรู้จริงๆ จึงได้รู้ว่า พืชตระกูลถั่วมีประโยชน์จริงๆ ช่วยปรับสภาพดินได้จริงๆ เหตุผลก็เพราะว่าในดินจะมีแบคทีเรียอยู่ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ไรโซเบียม (Rhizobium)” ซึ่งจะเป็นจีนัสของแบคทีเรียที่อยู่ในปมรากของพืชตระกูลถั่ว และแบคทีเรียที่ว่านี้ก็จะไปสร้างปมที่รากของพืชตระกูลถั่ว แล้วจะทำหน้าที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาไว้ที่ปมราก จากนั้นก็จะทำการปลดปล่อยออกมาในรูปของสารอินทรีย์ที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย อธิบายให้เห็นภาพชัดเจนก็คือ หากใช้พืชตระกูลถั่วปรับสภาพดินก็เหมือนกับมีโรงงงานผลิตปุ๋ยโฟมคุณภาพสูงไว้ในผืนดินของเรา และหากไถกลบพืชตระกูถั่ว ก็จะทำให้ดินแปลงนั้นมีธาตุไนโตรเจนเพียงพอสำหรับฤดูปลูกและต่อๆไป ระยะไถกลที่เหมาะสมที่สุดก็คือระยะออกดอกเพราะระยะนี้พืชจะสะสมไนโตรเจนเอาไว้มาก หากมีการปรับปรุงดินด้วยพืชตระกูลถั่วหรือปุ๋ยพืชสดแล้ว ผลผลิตที่ได้ก็สูงขึ้น สุดท้ายกำไรก็จะตามมาเองครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เลือกฤดูกาลปลูกฟักทองให้ขายได้ราคาแพง

ปูนขาว/ปูนมาร์ล ทำหน้าที่อะไร?

9 อุปกรณ์สำหรับวางระบบน้ำด้วยท่อ Pe ที่คนทำเกษตรควรรู้ไว้