หลักในการสังเกตดินที่เป็นกรด

จะรู้ได้อย่างไร.? ว่าดินสำหรับเพาะปลูกของเราเป็นกรด

เทคนิคเกษตร
สำหรับปัจจัยพื้นฐานในการที่จะทำเกษตรให้ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย อันดับแรกๆเลย ผมขอแนะนำให้เริ่มจากดินก่อนครับ เพราะไม่ว่าเราจะปลูกอะไรก็แล้วแต่ หากเรามัวแต่ปลูกไปเรื่อยๆทุกปี โดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินให้ดีตามไปด้วย ผลที่ตามมาอันดับแรกก็คือ เราต้องสิ้นเปลืองค่าปุ๋ยเคมีที่สูขึ้น ตามความเสื่อมของดินที่สูงขึ้นไปด้วย ส่วนอันดับสองรองลงมาก็คือ ผลผลิตที่ได้ในแต่ละปีจะทรงตัวและจะทยอยลดน้อยลงไปเรื่อยๆ  จนกระทั่งขาดทุนหรือไม่มีกำไรในที่สุด และในวันนี้ผมจะขอแนะนำหลักในการทำเกษตรที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากการสังเกตพื้นที่เพาะปลูกของเราก่อนนั่นก็คือ “การสังเกตดินที่เป็นกรด” มีลักษณะและวิธีแก้ไขอย่างไร.? ไปศึกษาพร้อมๆกันครับ
หลักเกษตร แก้ปัญหาดินกรด
ดินกรด หมายถึงดินที่มีค่าความเป็นกรดด่าง หรือเรียกว่า (ค่า PH) ของดินต่ำกว่า 7.0 แต่ค่าที่ว่านี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับการทำเกษตรเท่าไรครับ ที่ผมจะบอกก็คือค่าความเป็นกรดด่างของดินที่ต่ำกว่า 5.5 นี่แหละ..ที่เป็นปัญหาสำหรับเกษตรกรอยู่ทุกวันนี้ เพราะหากว่าดินที่เราใช้เพาะปลูกอยู่นี้ มีค่า PH ต่ำกว่า 5.5 แล้ว จะทำเกษตรด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีขนาดไหน ก็มีแต่จะสิ้นเปลืองเปล่าๆ เพราะดินเพาะปลูกที่มีสภาวะความเป็นกรดขนาดนี้ จะมีผลต่อการปลดปล่อยธาตุอาหารสำหรับพืชโดยตรงครับ พูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ดินที่เป็นกรดส่วนใหญ่แล้วจะเป็นดินที่ไม่มีธาตุอาหารสำหรับพืช แต่กลับมีธาตุบางอย่างที่ไม่จำเป็นสำหรับพืชแทน เช่น อะลูมิเนียม เหล็กและแมงกานีส ซึ่งจะละลายออกมาจนเป็นพิษต่อพืชผักที่เราปลูก ส่วนการสังเกตดินกรดก็ไม่ยากครับ เพราะส่วนใหญ่ดินที่เป็นกรดจะมีเนื้อหยาบ ดินร่วนหยาบๆ พบได้ทั้งในที่ลุ่มและที่ดอน ซึ่งปัญหาของดินกรดส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีที่มากเกินไป และใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ขาดการปรับปรุงบำรุงดิน หากนำดินชนิดนี้มาทำการเกษตรก็จะเห็นอาการต่างๆเหล่านี้ที่เกิดกับพืช เช่น รากสั้น รากบวม ใบเล็ก หรือมีใบที่เขียวเข้มจนคล้ำ หรือไม่ก็พืชจะมีใบซีดเหลือง เกิดโรคทางดินต่างๆตามมา เช่น โรครากเน่า โคนเน่า และพืชก็จะเหี่ยวง่ายกว่าปกติ

แนวทางการแก้ปัญหาดินเป็นกรด
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาดินเป็นกรด โดยรวมแล้วก็มีอยู่ 2 วิธีหลักๆ ดังนี้ครับ

1.ใช้วัสดุปูนทางการเกษตร เพื่อลดความเป็นกรดของดิน เช่น ปูนโดโลไมท์ ซึ่งในสารปรับสภาพดินดังกล่าว จะมีทั้งแคลเซียมและแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบ หากจะใช้เพื่อลดความเป็นกรดของดิน ก็จะใช้ประมาณ 300-500 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งจะสามาสรถแก้ความเป็นกรดของดินได้ลึกมากกว่า 15 เซนติเมตรเลยทีเดียว

2. ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดความเป็นกรดของดิน เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยพืชสด ซึ่งจะช่วยเพิ่มการดูดซับธาตุอาหารของพืชในดิน และลดการสูญเสียของธาตุอาหารจากการถูกชะล้างหน้าดิน และอินทรียวัตถุที่มีอยู่ในปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยพืชสด ยังช่วยลดความเป็นพิษของเหล็กและอะลูมิเนียมในดินได้อีกด้วย

ข้อแนะนำ : หากสังเกตดินเป็นกรดด้วยตัวเองไม่ได้ หรือไม่ชำนาญ แนะนำให้ปรึกษาหมอดินใกล้บ้าน หรือนำดินไปตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างได้ที่กรมพัฒนาที่ดินในเขตที่ท่านอาศัยอยู่ครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปูนขาว/ปูนมาร์ล ทำหน้าที่อะไร?

เลือกฤดูกาลปลูกฟักทองให้ขายได้ราคาแพง

9 อุปกรณ์สำหรับวางระบบน้ำด้วยท่อ Pe ที่คนทำเกษตรควรรู้ไว้