ทำปุ๋ยหมักแบบง่ายๆ ไม่ต้องกลับกอง

สูตรทำปุ๋ยหมักไม่ต้องกลับกอง

มาทำปุ๋ยหมักใช้..แบบไม่ต้องกลับกลองกันเถอะ

สำหรับ ปุ๋ยหมัก สูตรนี้เป็นสูตรสำเร็จของผมเองครับ เป็นการทำปุ๋ยหมักแบบง่ายๆ ไม่ต้องกลับกลองให้เสียเวลา แต่ผลที่ได้ก็คือปุ๋ยหมักโดยทั่วไปที่เราใช้กันนั่นแหละครับ เพราะหลักการของการทำปุ๋ยหมัก คือการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศษฟางข้าว เศษหญ้า เปลือกถั่วต่างๆ มารวมกัน ผสมกับมูลสัตว์เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติทำการย่อยสลายจนกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่เราเรียกกันว่า “ปุ๋ยหมัก” พอผมได้เข้าใจหลักการเพียงเท่านี้ ก็เลยคิดทำปุ๋ยหมักด้วยวิธีง่ายๆ ไม่ต้องยุ่งยาก เพียงแต่ทำให้ถูกหลักที่กล่าวข้างต้นก็พอ ไปดูวิธีการทำปุ๋ยหมักของผมกันดีกว่าครับ

เริ่มจากเตรียมวัตถุดิบ

มูลสัตว์บรรจุกระสอบขนาด 50 กก.
พอดีว่าแถวบ้านผมเขาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันมาก ก็พอมีเศษเปลือกข้าวโพดที่เหลือจากการโม่ ให้ได้นำมาเป็นวัตถุดิบทำปุ๋ยหมักอยู่บ้าง แต่หลักๆที่ผมใช้..มีดังนี้ (คำนวณเอาปริมาณเพื่อให้ได้ปุ๋ยหมัก 1 ตัน)
หัวเชื้อ Em
วัตถุดิบหลักที่ใช้ทำปุ๋ยหมัก

- มูลสัตว์ (ขี้วัว) 25 กระสอบ
- เศษเปลือกข้าวโพด 25 กระสอบ
- หัวเชื้อ EM จำนาน 500 ซีซี
- กากน้ำตาลจำนาน 10 ลิตร
- น้ำเปล่าจำนวน 50 ลิตรหรือมากกว่า
- สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 2 ซอง 
- ถังบรรจุขนาด 50 ลิตร 1 ใบ
- บัวรดน้ำ 1 อัน

เริ่มจากเตรียมสถานที่

ในการทำปุ๋ยหมัก เพื่อให้จุลินทรีย์ทำการย่อยสลายเศษวัสดุต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรตั้งกองปุ๋ยหมักไว้ร่ม เพราะหากเราตั้งกองปุ๋ยหมักกลางแจ้งหรือโดนแสงแดดจัด จะไม่มีจุลินทรีย์มาทำการย่อยสลายปุ๋ยหมัก เนื่องจากแสงแดดจะเป็นตัวทำลายจุลินทรีย์ดังกล่าว อาจจะทำเป็นกองใต้ต้นไม้ใหญ่ หรือใต้ชายคาก็ได้ แต่สำหรับผมจะทำเป็นคอกสี่เหลี่ยมกลางแจ้ง ขนาด 4×4 เมตร มุงหลังคาด้วยใบลานให้เกิดร่มเงา ส่วนฝาจะใช้กระเบื้องเก่าวางเรียงกันแนวตั้ง เป็นอันเรียบร้อย ก็เริ่มลงมือทำตามขั้นตอน ดังนี้ได้เลย
คอกปุ๋ยหมักขนาด 4×4 เมตร

1. ละลายกากน้ำตาล 10 ลิตร สารเร่งซุปเปอร์พด.1 จำนวน 2 ซอง หัวเชื้ออีเอ็ม 500 ซีซี ลงในน้ำเปล่า 50 ลิตร ที่เตรียมไว้ คนให้เข้ากันจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที (เตรียมไว้เป็นหัวเช้ื้อสำหรับผสมน้ำรดกองปุ๋ยหมัก)

2. เทเปลือกข้าวโพดจำนวน 2 กระสอบลงในคอกปุ๋ยหมัก เกลี่ยให้กระจายทั่วบริเวณ
เทเปลือกข้าวโพดเป็นชั้นแรก

3. เทมูลสัตว์ (ขี้วัว) จำนวน 2 กระสอบ ทับชั้นของเปลือกข้าวโพด เกลี่ยให้กระจายทั่วบริเวณให้เท่าๆกัน
เทมูลสัตว์ (ขี้วัว) กระจายให้ทั่ว
4. ใช้บัวรดน้ำตักสารละลายอีเอ็มและกากน้ำตาลที่เตรียมไว้ (หัวเชื้อ 1 ลิตร ผสมน้ำเปล่า 1 บัวรดน้ำ) รดให้ทั่วบริเวณ ซึ่งจะใช้ประมาณ 3 บัวรดน้ำต่อชั้นปุ๋ยหมัก "แต่ไม่ใช้แรงงานเด็กนะครับ" และในการรดน้ำกองปุ๋ยหมักชั้นแรกๆให้รดแต่พอดี คือไม่ต้องให้แฉะเกินไป (เป็นอันเสร็จขั้นตอนในชั้นแรก) ส่วนชั้นต่อๆ ไปก็ทำเหมือนกัน จนกว่าจะหมดวัตถุดิบที่เตรียมไว้



รดด้วยน้ำหมักชีวภาพที่ละลายด้วยสารเร่ง พด.1

ขั้นตอนการดูแลกองปุ๋ยหมัก

ในส่วนขั้นตอนของการดูแลกองปุ๋ยหมักของผม ก็ไม่มีอะไรมากครับ เพียงแค่หมั่นตรวจดูความชื้นในกองปุ๋ยหมัก หากเห็นว่าความชื้นไม่เพียงพอก็เพิ่มความชื้นโดยการรดน้ำ ตรวจดูการย่อยสลายของวัตถุดิบ และทำบันทึกสภาพการย่อยสลาย เพื่อคำนวณระยะเวลาสำหรับนำไปใช้ เป็นอันเรียบร้อยครับ

ปล.ภาพอาจจะเบลอๆไปนิดเพราะใช้ละอ่อนถ่าย ต้องขออภัย..เจอกันบทความหน้าครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เลือกฤดูกาลปลูกฟักทองให้ขายได้ราคาแพง

ปูนขาว/ปูนมาร์ล ทำหน้าที่อะไร?

9 อุปกรณ์สำหรับวางระบบน้ำด้วยท่อ Pe ที่คนทำเกษตรควรรู้ไว้