ปลูกผักหวานป่าหนึ่งปีกับอีก 7 เดือนเก็บขายได้
บทสรุปผักหวานป่าจากประสบการณ์จริง
ผักหวานป่า่
บทความการปลูกผักหวานป่าที่เพื่อนๆ
กำลังอ่านอยู่นี้เป็นประสบการณ์ที่ได้ทดลองปลูกผักหวานป่า จากประสบการณ์จริงของผมเองครับ
เริ่มแรกที่ผมมาอยู่บ้าน (ลาออกจากงานบริษัท) สนใจที่จะทำเกษตรอย่างจริงจัง
แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี ก็มีอยู่วันหนึ่งบังเอิญเห็นข้าราชการครูคนหนึ่งกำลังเดินทางไปสอนนักเรียน
ก็มีโอกาสได้คุยกับท่านครับ ผมก็สอบถามเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับเงินบำนาญอะไรต่างๆ ประมาณนี้
จากนั้นก็หวนคิดถึงตัวเอง..จะทำอย่างไรดีเมื่อเราไม่มีเงินเดือน ตั้งคำถามให้กับตัวเองเลยทันทีครับ..จะทำอย่างไรเราถึงจะได้บำนาญหลังเกษียนเหมือนข้าราชการ..?
ฟังดูแล้วการที่เรามีอาชีพทำเกษตรไม่มีทางเป็นไปได้ใช่ใหมครับ
แต่ความตั้งใจของผมคือ จะปลูกผักหวานป่าเอาไว้เก็บขายเพื่อเป็นบำนาญตลอดชีวิตและต้องทำให้ได้
ผมเริ่มจาก 3 Step ครับ นั่นก็คือ คิด – ค้นคว้า
– และลงมือทำ เมื่อเริ่มวางแผนก็เริ่มศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลการปลูกผักหวานป่าจากสื่อต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สอบถามจากปราชญ์ชาวบ้าน
และค้นหาข้อมูลการปลูกผักหวานป่าจากอินเตอร์เน็ต พอเริ่มเข้าใจก็เริ่มลงมือทำครับ
หากเพื่อนๆ เคยอ่านบทความการปลูกผักหวานป่าของผมตั้งแต่เริ่มแรก จะเห็นว่าผมได้ทดลองปลูกกับพืชหลายชนิด
เช่น ปลูกผักหวานไต้ต้นพริก (เพื่อให้ผักหวานป่าอาศัยร่มเงาของต้นพริก) ต้นมะเขือ
ถั่วมะแฮะต่างๆ สุดท้ายก็ไม่รอด ไม่โต ต้นแคระเกร็น
ความหวังเรื่องบำนาญชีวิตเริ่มริบหรี่ลงทุกทีแล้วครับ
แต่บังเอิญไปเห็นต้นผักหวานป่าที่ผมแอบเอาเมล็ดไปปักไว้ใต้ต้นแค กลับเจริญเติบโต
มีใบสีเขียว แตกยอดอ่อนให้เห็นเป็นที่น่าพอใจ ทั้งที่ปลูกไว้โดยไม่ใส่ใจไม่ได้รดน้ำอีกต่างหาก
ก็เลยศึกษาค้นคว้าต่อจนได้ข้อสรุปดังนี้ครับ
ผักหวานป่าต้นนี้อายุปี 8เดือน |
ผักหวานป่าเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดเพียง
50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากเราจะปลูกให้เจริญเติบโตและรอดตาย ควรทำแสลนบังแสงแดดเอาไว้
หรือไม่ก็ปลูกไว้ใต้ร่มไม้ และร่มไม้ที่ว่านี้ผมขอแนะนำต้นแคครับ
หากผมบอกว่าการปลูกผักหวานป่าไว้ใต้ร่มของต้นแค จะใช้เวลาเพียงหนึ่งปีกับอีก 7
เดือนก็สามารถเก็บขายได้ เพื่อนๆ หลายคนอาจไม่เชื่อ แต่ผมพิสูจน์แล้วครับได้ผลตามนั้น
เหตุผลก็เพราะว่าต้นแคเป็นพืชตระกูลถั่ว
ตามปกติแล้วพืชตระกูลถั่วจะสร้างปมไว้ที่ราก (โดยแบคทีเรียที่มีชื่อว่าไรโซเบียม)
เพื่อตรึงไนโตรเจนจากอากาศเอามาไว้ที่ปมราก แล้วปลดหล่อยออกมาในรูปของสารอินทรีย์
ที่มีประโยชน์สำหรับพืช ด้วยเหตุนี้พืชที่ปลูกไว้ใกล้ต้นแคหรือพืชตระกูลถั่วอื่นๆ จึงได้ประโยชน์จากกระบวนการที่ว่านี้
โดยเฉพาะผักหวานป่า จากข้อมูลที่ได้ศึกษามานี้ ผมเริ่มทดลองปลูกทันทีครับ 120 ต้น
(เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2556 จนถึงวันนี้ คือ 14 กุมภาพันธุ์ 2557 เป็นเวลา
9 เดือน) ปรากฏว่าผักหวานป่าที่ปลูกไว้รอดตายเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ครับ ผักหวานป่าบางต้นสูงเลยหัวเข่า
แตกยอด ถอดใบเขียว โดยที่ไม่ได้รดน้ำ
ความหวังเรื่องบำนาญชีวิตเริ่มกลับมาอีกครั้งแล้วครับ แนวคิดผมคือจะปลูกผักหวานป่าให้ได้พร้อมเก็บจำนวน
700 ต้น คือจะเก็บยอดขายวันละร้อยต้นผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปจนครบเจ็ดวัน
หากแผนที่วางไว้สำเร็จตามนี้ กล้าบอกได้เลยว่านี่แหละบำนาญชีวิตของจริงครับ
ทุกเรื่องราวทุกประสบการณ์ของการปลูก "ผักหวานป่า" หรือแม้แต่การทำเกษตรอย่างอื่น ผมจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอในรูปของบทความเผย แพร่ในเชิงแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กัน
และยังมีเทคนิควิธีการในการทำเกษตรอีกมากมาย ที่ผมนำเสนอไปแล้วในบทความก่อน และพร้อมที่จะนำเสนอในบทความต่อๆ
ไป อย่าลืมติดตามนะครับ