เทคนิคทำเกษตร..แก้จน

ทำเกษตรอย่างไร..ไม่ให้จน
เทคนิคเกษตร ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ลงมือทำ (เกษตร)   แล้วอยากรวย     พอช่วยได้
ลงมือทำ (เกษตร)   แล้วอยากสบาย    ไม่ต้องถาม
หากคิดทำ (เกษตร) แล้วเกียจคร้าน   ต้องประณาม
ทำเกษตร      ไม่วู่วาม   สอบถามกันได้เลย
สวัสดีอีกเช่นเคยครับ สำหรับเพื่อนๆผู้ที่กำลังสนใจและกำลังแสวงหาความรู้ทางด้านการทำเกษตร ทุกคนล้วนมีเป้าหมายชีวิตที่แตกต่างกันไปถูกไหมครับ แต่ส่วนตัวผมแล้วเชื่อได้เลยว่า กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ของมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ต้องการความสำเร็จในชีวิต ต้องการความร่ำรวย ความสุขสบายกันทั้งนั้น แต่ชะตาชีวิตได้กำหนดเส้นทางการทำมาหากิน เส้นทางการประกอบอาชีพของพวกเราไว้ไม่เป็นไปตามคาดหวังเสมอไป แต่ทุกท่านรู้ไหมครับว่า ในคราใดที่เราท้อแท้และสิ้นหวัง นั่นแสดงว่าเรากำลังก้าวถอยหลังอย่างที่เราไม่รู้ตัวครับ มิหนำซ้ำโอกาสที่จะพบความสำเร็จ ยังถอยห่างเราออกไปอีกด้วย ในบทความนี้ผมเองก็ขออนุญาตแนะนำเทคนิคการทำเกษตร เพื่อหลีกหนีความจน ให้เพื่อนๆ ผู้อ่านได้นำไปพิจารณา หรืออาจจะนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง และครอบครัวครับ
ก่อนหน้านี้ผมก็เป็นพนักงานเงินเดือนอย่างหลายๆคนที่กำลังอ่านบทความตอนนี้แหละครับ เกิดความเบื่อหน่ายจึงหันเหชีวิตมาทำเกษตร ขอบอกก่อนนะครับว่า ผมไม่ใช่คนที่ประสปความสำเร็จในการทำเกษตร ไม่ใช่คนที่ร่ำรวยแต่อย่างใด แต่เทคนิคเกษตรที่ผมจะบอกนี้เป็นเทคนิคส่วนตัวที่ยึดถือ และลงมือทำอย่างจริงจังครับ
ในการทำเกษตรของผมจะไม่เน้นตามกระแสนิยมเท่าไรนัก คือทำไปตามที่ตัวเองได้ศึกษาหาความรู้มา ไม่ลอกเลียนแบบใครอันดับแรกเลยผมจะเริ่มจากแนวคิดก่อน นั่นคือการวางแผนนั่นเอง (แนวคิดนี้ได้จากทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง) แผนของผมมีอยู่ว่า
- อันดับแรกเลย เราต้องวางแผนให้ครอบครัวมีรายได้ รายวัน..รายเดือน..รายปี..แล้วรายได้เหล่านี้จะมาจากไหนกันล่ะในเมื่อเราลาออกจากงานกลับมาทำเกษตร..ไม่มีเงินเดือนแล้ว อันนี้ตั้งคำถามสำหรับตัวเองครับ
- อันดับสองต้องลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น
เมื่อมีแผนออกมาดังนี้แล้ว ผมก็เริ่มลงมือทำตามแผนที่วางไว้ทันทีครับ พื้นที่ทำเกษตรจริงๆ ผมมีอยู่ประมาณ 8 ไร่ (ไม่รวมที่สร้างบ้าน) ผมได้แบ่งที่ทำกินออกเป็น 3 ส่วนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ศึกษามาดังนี้ครับ
พื้นที่ส่วนที่ 1 จะปลูกพืชผักสวนครัวที่มีช่วงอายุการเก็บเกี่ยวสั้น เช่น ฟักทอง ถั่วฝักยาว มะเขือ พริก ผักต่างๆ ผสมผสานกันไป เก็บขายภายในหมู่บ้าน (ได้เงินรายวัน)
พื้นที่ส่วนที่ 2 จะปลูกพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวอยู่ในช่วงปานกลาง ที่ผมปลูกคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อายุเก็บเกี่ยว 95 – 100 วัน หมุนเวียน 3 รุ่นต่อปี มีรายได้เฉลี่ย 4 – 5 พันบาทต่อเดือน อยู่แบบพอเพียงได้อย่างสบายเลยครับ
พื้นที่ส่วนที่ 3 สุดท้าย จะปลูกมันสำปะหลังที่มีอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ที่ 8 – 12 เดือน อันนี้จะเป็นรายได้รายปีอย่างสบายครับ
ด้วยแนวคิดง่ายๆ ผนวกกับแนวทางการทำเกษตรแบบอินทรีย์ของผม และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน เพียงเท่านี้ ก็มีกิน มีใช้ มีออม(นิดๆ หน่อยๆ) มีความสุขอย่างถาวรครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ปูนขาว/ปูนมาร์ล ทำหน้าที่อะไร?

เลือกฤดูกาลปลูกฟักทองให้ขายได้ราคาแพง

9 อุปกรณ์สำหรับวางระบบน้ำด้วยท่อ Pe ที่คนทำเกษตรควรรู้ไว้