ธาตุอาหารพืข ฉบับเข้าใจง่าย


     ธาตุอาหารพืชมีอยู่ 4 กลุ่มคือ 1.ธาตุอาหารหลัก 2.ธาตุอาหารรอง 3.จุลธาตุ 4.กลุ่มธาตุอาหารที่ได้จากอากาศ และธาตุอาหารที่พืชต้องการมากที่สุดมีอยู่ 9 ธาตุคือธาตุที่ได้จากดินมี 6 ธาตุ เช่น ธาตุอาหารหลัก 3 ธาตุ คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) ธาตุอาหารรองอีก 3 ธาตุคือ แคลเซียม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (S) ส่วนอีก 3 ธาตุคือ คาร์บอน (C) ออกซิเจน (O) ไฮโดรเจน (H) เป็นธาตุที่พืชได้รับจากอากาศ 

โดยเฉพาะธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง 6 ธาตุ จะพบในเซลล์พืชมากถึง 500 มิลลิกรัม/น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ส่วนจุลธาตุเช่น เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) โมลิบดินัม (Mo) คลอรีน (Cl) นิกเกิล (Ni) และโบรอน (B) ล้วนเป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณน้อยคือประมาณ 0.001 กรัม/น้ำหนักแห้ง 1 กิโลกรัม 

ไนโตรเจน (N) เป็นธาตุที่มีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช มีส่วนในการสร้างกรดอะมิโน กรดนิวคลีอิก โปรตีน และฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ และยังมีความสำคัญต่อกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชอีกด้วย

หากพืชขาดไนโตรเจน ใบพืชจะมีสีเหลืองเริ่มจากใบแก่ก่อน ใบมีขนาดเล็ก ลำต้นแคระแกร็น และมีผลผลิตต่ำ 

ฟอสฟอรัส (P) ทำหน้าที่กระตุ้นและเร่งการเจริญเติบโตของรากพืช ควบคุมการติดดอกออกผล กระบวนการหายใจของพืช การสร้างเมล็ด อีกทั้งยังมีความสำคัญต่อกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชด้วย 

หากพืชขาดฟอสฟอรัส ระบบรากจะไม่สมบูรณ์ ลำต้นแคระแกร็น ใบแก่จะมีการเปลี่ยนสีจากสีเขียวเป็นสีม่วงแล้วกลายเป็นสีน้ำตาลและหลุดร่วง  และที่สำคัญไม้ผลที่เราปลูกจะติดดอกออกผลยากหรือไม่ติดผลเลย

โพแทสเซียม (K) ทำหน้าที่ช่วยในการสังเคราะห์แป้งน้ำตาลและโปรตีน ส่งเสริมกระบวนการเคลื่อนย้ายแป้งและน้ำตาล ยังช่วยส่งเสริมพืชในการต้านทานโรคและแมลงบางชนิดได้อีกด้วย 

หากพืชขาดโพแทสเซียม ลำต้นไม่แข็งแรง เปราะและหักง่าย ดอกผลไม่สมบูรณ์ ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ 

     สรุปนอกจากในแต่ละปีจะเติมธาตุอาหารที่จำเป็นแล้ว ควรเติมอินทรีย์วัตถุเช่นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสด และที่สำคัญควรปรับสภาพดินให้มีค่า ph 5.5-6.5 (เป็นกรดอ่อนๆ) เพื่อให้ธาตุอาหารต่างๆที่สะสมอยู่ในดินละลายออกมาได้ดี โดยเฉพาะฟอสฟอรัสซึ่งเป็นธาตุที่ไม่เคลื่อนที่ในดิน แต่เคลื่อนที่ได้ในพืช ใส่ตรงไหนก็จะอยู่ตรงนั้น หากดินมีความเป็นกรดมากฟอสฟอรัสที่เราใส่ลงไปก็จะถูกตรึงด้วยเหล็กและอลูมินัมทำให้ตกตะกอนไม่สามารถละลายออกมาได้ ในทางตรงกันข้ามหากดินปลูกของเรามีความเป็นด่างมาก เมื่อเติมฟอสฟอรัสลงไป ก็จะไปทำปฏิกิริยากับแคลเซียม และแมกนีเซียม ทำให้ไม่สามารถละลายออกมาได้ ต้นไม้ที่เราปลูกก็จะไม่ได้รับประโยชน์ ทำให้สิ้นเปลืองนะครับ.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เลือกฤดูกาลปลูกฟักทองให้ขายได้ราคาแพง

ปูนขาว/ปูนมาร์ล ทำหน้าที่อะไร?

9 อุปกรณ์สำหรับวางระบบน้ำด้วยท่อ Pe ที่คนทำเกษตรควรรู้ไว้